โสมอเมริกา มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาเหนือ โดยถูกค้นพบและนำมาใช้ประโยชน์ทางยามาตั้งแต่ราชวงศ์ชิงของจีนช่วงคริสตศักราชที่ 1694 หรือ ประมาณ 300 ปีก่อน แล้วจึงค่อยๆ แพร่หลายเป็นที่นิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้นทั้งในแถบทวีปเอเชียและอเมริกา โดยมีการประมาณการว่า ประชากรชาวอเมริกันกว่า 6ล้านคนนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากโสมเป็นประจำ
สรรพคุณในทางการแพทย์แผนโบราณของโสมอเมริกานับว่ามีความแตกต่างจากโสมเอเชีย (Panax ginseng) โดยที่โสมเอเชียนั้นถูกจัดเป็นยาร้อนหรือยาที่เสริมธาตุ “หยาง” ให้ร่างกาย ในขณะที่โสมอเมริกา จะถูกจัดให้เป็นยาเย็นหรือยาที่ช่วยเสริมธาตุ “หยิน” ให้กับร่างกาย
โสมอเมริกัน (เอียเซียม) เป็นโสมที่พบมากในอเมริกา แคนนาดา และฝรั่งเศส มีรสหวาน ขมเล็กน้อย
คุณสมบัติ : เย็น ฤทธิ์ยาสามารถเคลื่อนตัวเข้าสู่เส้นลมปราณหัวใจ ปอดและไต(1)
สรรพคุณ: สามารถบำรุงชี่ บำรุงหยิน คลายร้อน ทำให้ชุ่มคอ เหมาะสำหรับผู้ที่ชี่และหยินพร่อง ร้อนใน ไอหอบ มีเสมหะเป็นเลือด กระหายน้ำง่าย ปากแห้งคอแห้ง เป็นต้น(2) ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอยู่ในภาวะสงบ และมีสมาธิ อีกทั้งยังบำรุงร่างกายด้วย การที่โสมสามารถให้ประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์ร้อนหรือเย็นตามความเชื่อของแนวคิดการแพทย์แผนโบราณจีนนั้น สืบเนื่องมาจากโสมประกอบด้วยสารธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มีชื่อว่า จินเซ็นโนไซด์ (Ginsenosides) ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของจินเซ็นโนไซด์ ชาวจีนยกให้โสมเป็นยาอายุวัฒนะมาเป็นเวลาช้านานนับเป็นพันๆ ปี โดยในตำราแพทย์แผนโบราณได้ใช้โสมในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย อาทิ รูมาติซึม ท้องผูกระบบ ทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง แก้เครียด ที่น่าสนใจคือ สามารถช่วยบำบัดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในสารจินเซ็นโนไซด์ว่ามีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบและ ภูมิแพ้และผลการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และผลการต่อต้านเซลล์มะเร็ง เป็นต้น(2)
ข้อระวัง
ไม่ควรทานโสมพร้อมกับหัวผักกาด หัวไชเท้าหรือชา เพราะจะทำให้สรรพคุณของโสมลดลง สำหรับผู้ที่มีพลังหยางชี่พร่อง หรือมีความเย็นความชื้นในกระเพาะอาหาร ไม่ควรรับประพานโสมอเมริกา(1)
อ้างอิง
- อาจารย์แพทย์จีน โสรัจ นิโรธสมาบัติ.http://cmed.hcu.ac.th/new/userfiles/files/โสม.pdf.
- Surapote Wongyai.ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 (ก.ย. – ธ.ค.) 2555.ผลทางเภสัชวิทยาของสารจินเซ็นโนไซด์ในโสมอเมริกาต่อสุขภาพ.วารสารพยาบาลทหารบก